Untitled Document
  1. จัดหาวัตถุดิบ (ทองคำแท่ง)
          ทองคำแท่งซึ่งใช้ในการผลิตทองคำเปลวนั้นต้องมีความบริสุทธิ์ของทองคำไม่ต่ำกว่า 96.5% - 99.99% ตามมาตรฐานของทองคำแท่งในประเทศ โดยจะจัดซื้อหาจากร้านค้าส่งซึ่งเชื่อถือได้เรื่องมาตรฐาน แต่ทองร้านก็จะมีการสุ่มตัวอย่างของทอง ไปทำการเช็คค่าความบริสุทธิ์ของทองคำ (ASSAY) โดยมีบริษัทซึ่งรับตรวจเช็คและออกใบรับรองให้
 
  2. ทองใบและขั้นตอนการรีด
          เมื่อได้ทองคำแท่งซึ่งได้มาตรฐานแล้วก็จะนำทองคำแท่งไปจ้างร้านซึ่งรับรีดทองรีดเงินทั่วไป โดยจะรีดให้มีความกว้าง 4.0ซม. ความยาวแล้วแต่น้ำหนักของทอง โดยให้มีความหนาอยู่ที่ประมาณ 4 – 5 ไมครอน เราเรียกทองซึ่งรีดเสร็จแล้วว่า ทองใบ หลังจากได้ทองใบมาเสร็จแล้วก็จะนำมาเช็ดทำความสะอาดคราบน้ำมันให้หมดและตัดเป็นเส้นๆประมาณ 1 ฟุต เพื่อง่ายต่อการนำไปตัดให้เป็นชิ้นเล็กๆต่อไป
 
  3. ลอนทอง
          เมื่อได้ทองใบมาและทำความสะอาดแล้ว เราก็จะนำทองใบมาตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ขนาดความกว้าง ยาว = 1 x 1ซม. เราเรียกว่า ตัวกุบ การลอนทองนี้เราจะใช้กรรไกรตัดผ้าธรรมดาเป็นตัวตัดแต่ต้องเป็นกรรไกรที่คมและใช้เฉพาะตัดทองเท่านั้น การลอนทองแต่ละครั้งจะใช้น้ำหนักทองประมาณ 3 บาท ซึ่งจะลอนเป็นตัวกุบได้ประมาณ 1500 – 1600 ตัว หลังจากได้ตัวกุบแล้วก็จะใช้หมอนจุ่มแป้งสอมาเคาะใส่ตัวกุบเล็กน้อย ขั้นตอนนี้เรียกว่า ตบสอ
 
  4. เตรียมกระดาษกุบซัดร้อนกุบกวาดกุบ
          กระดาษกุบเป็นกระดาษแก้วขุ่นซึ่งนำเข้าจากญี่ปุ่นและจีน นำมาตัดให้ได้ขนาด 4 x 4 นิ้ว เราเรียกว่ากุบ ในการใส่ทองเพื่อไปตีฝัก 1 ฝัก จะต้องใช้กุบ 2 ขอนหรือ 1 คู่ ในแต่ละขอนจะมีกระดาษประมาณ 1000 แผ่น กุบจะต้องซัดร้อนก่อนโดยจะต้องนำกระดาษไปฉาบแป้งแล้วนำไปตีประมาณ 2 -3 ครั้งก่อนใช้เพื่อให้กระดาษอ่อนตัว และทำให้ทองไม่ติดกระดาษกุบ หลังจากได้กระดาษแล้วจึงนำไปใช้ตีทองได้ โดยก่อนนำไปตีทองทุกครั้งต้องทำการกวาดทำความสะอาดทุกครั้ง ขั้นตอนนี้เรียกว่า กวาดกุบ
 
  5. ใส่กุบ
          เมื่อได้กุบมาเรียบร้อยแล้วจึงนำตัวกุบที่ลอนมาแล้วนำมาใส่กระดาษ 1 ใบ ใส่ทอง 1 ชิ้น ทองทุกๆชิ้นจะต้องอยู่ตรงกลางของกระดาษ เพื่อเวลาตีจะได้สังเกตง่ายและทำให้ทองออกมาในลักษณะเดียวกัน เสร็จแล้วก็จะหุ้มด้วยหนัง 2 ชั้น และนำไปตี
 


  6. ตีกุบ
          เมื่อได้กุบมา 2 ขอนแล้ว ก็จะทำการตีครั้งละขอน โดยจะต้องเริ่มทุบกระดาษให้ยุบตัว และตัวทองเริ่มออกตัวเมื่อได้รับแรงกระแทกเสียดสีจากการใช้ค้อนทุบจนเกิดความร้อน โดยจะทุบจากเบาๆไปประมาณ 20 นาที จึงเริ่มความแรง แรงขึ้นเรื่อยๆ โดยในการตีแต่ละครั้งจะต้องมีการกลับหัวกลับหาง และกลับด้านให้มีครบทุกๆด้านเพื่อให้ทองที่ขยายตัวมีลักษณะกลมสวย โดยการตีแต่ละครั้งจะตีประมาณ 12 กลับๆละ 80 ลูก แล้วจึงเปิดดูตัวทองว่าจะต้องตีแต่งแก้ไขหรือไม่ กุบ 1 คู่ 2 ขอน ใช้เวลาตีประมาณ 2ชม.ครึ่ง จึงแล้วเสร็จ ในขณะทำการตีจะต้องระวังไม่ให้หนังซึ่งหุ้มกระดาษหลวม เพราะจะทำให้ทองภายในแตก
 
  7. เตรียมกระดาษฝัก, ชัดร้อนฝัก, กวาดฝัก
          กระดาษฝักจะมีความกว้าง ยาว = 6.5 x 6.5 นิ้ว นำมาเรียงกันให้ได้กระดาษใส่ทอง 1600 แผ่น และแต่ละด้านจะต้องมีกระดาษหน้าค้อน (กระดาษรับแรงกระแทกของค้อมข้างละประมาณ 200 แผ่น รวมแล้วใน 1 ฝักจะมีกระดาษ 2000 แผ่น แล้วนำมากวาดด้วยแป้งไปตีประมาณ 20 กว่าเที่ยว ๆละประมาณ2ชั่วโมงจนกระดาษสุก ขึ้นเงา จึงนำไปใช้ได้ ในการใส่ทองทุกครั้งจะต้องทำความสะอาดกระดาษด้วยสอ (แป้ง) ทุกครั้ง
 
  8. ใส่ฝัก
          เมื่อได้กุบซึ่งตีมาแล้ว 1 คู่ ก็จะนำมาใส่ฝัก เพื่อตีให้ขยายตัวต่อไป โดยการใส่ฝักก็เพื่อต้องการตรวจดูตัวกุบที่ตีออกมาว่ามีลักษณะใด จะต้องแต่งตัวทองให้เรียบร้อยหรือไม่ และดัดเอาแผ่นที่แตกออกมา การใส่ฝักเช่นเดียวกับการใส่กุบ ต้องใส่ตัวทองให้อยู่ในตำแหน่งตรงกลางของกระดาษ เพื่อเวลาเมื่อนำไปตี จะได้รู้จุดของทองที่จะทำการขยาย เมื่อใส่กุบจนครบ 2 ข้างแล้ว ก็นำฝักไปหุ้มหนัง 2 ข้างและนำไปสู่กระบวนการตีต่อไป
 


  9. ตีฝัก
          การตีฝักเป็นขั้นตอนที่สำคัญและยากที่สุดในการทำทองคำเปลว เพราะต้องใช้ประสบการณ์และความชำนาญในการตีสูงมาก การตีฝักจะต้องวางตำแหน่งค้อนให้เสมอโดยมีแถวตั้ง 5 แถว เรียง5 ลูก แถวนอน 5 แถวเรียง5 ลูกเช่นกัน รวมเป็น 25 ลูก จนเต็มหน้าฝักทอง เมื่อต้องการให้ทองขยายตัวก็ต้องตีริมฝักให้ร้อนทุกด้าน แล้วจึงตีเข้าจุดกลางซึ่งมีทองอยู่ เรียกว่า เบียดทอง การตีทองต้องตีด้วยความสม่ำเสมอ น้ำหนักลงกระแทกต้องเท่ากันทุกๆลูก หากตีบางลูกหนักบางลูกเบา ก็จะทำให้ทองไม่ออก ไม่ขยายตัว และแตก แต่ถ้าหากไปตีซ้ำลูกเกินไปก็จะทำให้ทองติดในจุดนั้นๆ การตีฝักแบ่งเป็น 2 ขั้นตอนตามแบบโบราณ คือ แรกทองกับกลอยทอง แรกทองใช้เวลาในการตี 2 เปิดๆละ 2 ชั่วโมง จนครบ 2 เปิด ก็จะทำการกลับหน้าค้อน คือกลับเอาช่วงกลางฝักมาไว้บนและกลับบนไปไว้กลาง เพื่อให้การขยายทองเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ และตีต่ออีก 2 เปิด เปิดละ2 ชั่วโมง จึงเสร็จพร้อมที่จะนำไป ถ่ายออกจากกระดาษซึ่งเรียกว่าการเททอง
 
  10. เททอง
          การเททองคือ การนำทองออกจากกระดาษตีมาใส่กระดาษดามหรือกระดาษสาเพื่อทำการตัด การเททองต้องอาศัยความชำนาญในการเท มากเพราะทองซึ่งตีเสร็จแล้วจะมีความบางและฉีกขาดง่าย ต้องค่อยๆบรรจงเททองออกจากกระดาษที่ตีมาใส่กระดาษดาม เพื่อส่งให้คนตัดต่อไป
 


  11. ตัดทอง
          การตัดทองต้องใช้ความชำนาญเป็นอย่างยิ่ง เพราะต้องกะขนาดแผ่นทองว่า ทองแผ่นนี้จะต้องแบ่งกลางที่จุดไหน เพราะถ้ากะขนาดแผ่นทองผิดก็จะทำให้ทองซึ่งตัดออกมาไม่ได้ตัวจะกลายเป็นเศษเล็กเศษน้อยหมด และจะทำให้ขาดทุน ทองคำเปลวซึ่งตีออกมาจะบางจนแตะด้วยมือไม่ได้ ยกเว้นช่างที่เคยผ่านงานมาแล้ว จะมีความสามารถในการยกแผ่นทองที่เชือดแล้ว นำเข้ากระดาษได้อย่างง่ายดาย ทองซึ่งตีมาแล้วจะมีลักษณะกลม
 


  12. มัดทอง
          เมื่อตัดทองเสร็จแล้วจึงนำแผ่นทองที่ได้จำนวน 10  แผ่นมาไขว้กันไปมาแล้วนำมามัดรวมกันเป็นมัดละ 100 แผ่น จากนั้นนำมารวามกันเป็นมัดใหญ่ มัดละ 500 แผ่น
หน้าแรก : เกี่ยวกับเรา : ขั้นตอนการผลิต : ผลงานของเรา : ติดต่อเรา
Copyright 2011 © www.ayothayagoldleaf.com All Rights Reserved. Powered by ThaiWeb
Choose Styles
VISIT :